ตำนานวัดคีรีวิหาร
|
 |
ประวัติวัดคีรีวิหารนี้จะขอแยกออกเป็นสองส่วนคือส่วนที่เป็นหลักฐานของทางราชการ และส่วนที่ได้มาจากจดหมายเหตุหรือบันทึกต่างๆตลอดจนตำนานที่ได้เล่าสืบต่อกันมา
วัดคีรีวิหารตามหลักฐานของทางราชการ วัดคีรีวิหาร ตั้งอยู่ที่เลขที่ ๒ บ้านหาน ถนนไปทะเลสองห้อง หมู่ที่ ๗ ตำบลเขากอบ อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย บนพื้นที่ ๘๒ ไร่ ๒ งาน ๓๐ ตารางวา ตาม ส.ค.๑ เลขที่ ๑๙๘ อาณาเขตทิศเหนือยาว ๘ เส้น ๑๘ วา ติดต่อกับถนนไปทะเลสองห้อง ทิศใต้ยาว ๘ เส้น ๑๘ วา ติดต่อกับคลองลำยวน ทิศตะวันออกติดต่อกับสายห้วย ทิศตะวันตกติดต่อกับที่ดินสาธารณะของหมู่บ้าน พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่ม ตั้งอยู่ติดคลองลำยวน มีภูเขา ลำห้วย และที่สวนของเอกชน โดยรอบอาคารเสนาสนะต่างๆ มีอุโบสถกว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๗ เมตร สร้างเมื่อพ.ศ. ๒๕๑๔ โครงสร้างแบบถาวร สร้างขึ้นแทนหลังเก่าที่เป็นอาคารไม้ซึ่งทรุดโทรมใช้การไม่ได้ ศาลาการเปรียญกว้าง ๑๔ เมตร ยาว ๒๒ เมตร กุฎีสงฆ์จำนวน ๓ หลัง หอฉัน ๑ หลัง (สำหรับเสนาสนะเหล่านี้ต่อมาได้มีการปรับปรุงและก่อสร้างเพิ่มเติมเพื่อให้พอเพียงกับการทำศาสนกิจ) สำหรับปูชนียวัตถุ มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยจำนวน ๗ องค์ ประดิษฐานอู่ในถ้ำ และกรมศีลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุไว้แล้ว พระพุทธไสยาสน์ ๑ องค์ ขนาดยาว ๑๒ เมตร นอกจากนี้มีเจดีย์สำหรับบรรจุอัฐิของอดีตเจ้าอาวาสทุกองค์อีกด้วย วัดคีรีวิหาร สร้างขึ้นเป็นวัดเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๗๔ เดิมมีนามว่า "วัดหาน" เนื่องจากมีห่านปั้นไว้ ๒ ตัว เป็นกระเบื้องตั้งอยู่บนภูเขา ซึ่งคงจะเรยกเพี้ยนมาจากคำว่า "ห่าน" ซึ่งถายหลังห่านดังกล่าวได้ถูกทำลายไปหมดแล้ว มีผู้รู้บางท่านได้บอกเล่าว่า วัดคีรีวิหารนี้สร้างขึ้นพร้อมกับพระธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช เพราะมีโบราณวัตถุที่วัดนี้หลายอย่าง จากจดหมายเหตุระยะทางไปตรวจราชการของสมเด็จเจ้าฟ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้บันทึกไว้ราว ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕ กล่าวถึงวัดคีรีวิหารว่า เป็นวัดโบราณเก่าแก่แต่ขาดการบูรณะมาเป็นเวลานานแล้ว ปัจจุบันได้มีการพัฒนามากขึ้นแล้ว วัดคีรีวิหารได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๓ เขตวิสุงคาม กว้าง ๓๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร และต่อมาได้ผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิตประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๒
วัดคีรีวิหารมีเจ้าอาวาสทั้งหมด ๘ รูป ดังนี้ ๑. พระหนูจันทร์ ๒. พระแสน ๓. พระกลิ่น ๔. พระเงิน ๕. พระพุ่ม ๖. พระอ่ำ ยโสธโร พ.ศ. ๒๔๙๙ - พ.ศ. ๒๕๐๑ ๗. พระเจริญ สญฺญโม พ.ศ. ๒๕๐๑ - พ.ศ. ๒๕๐๖ ๘. พระครูนิมิตสังฆคุณ พ.ศ. ๒๕๐๖ - พ.ศ.๒๕๕๔ ๙. รักษาการเจ้าอาวาส พ.ศ.๒๕๕๔ -
วัดคีรีวิหารตามตำนานและเรื่องราวบันทึกไว้ จากการบอกเล่าสืบต่อๆกันมา และสภาพแวดล้อมตลอดจนการการพบพระพิพม์ดินดิบในถ้ำบริเวณวัด จากบันทึกการเดินทางปะโตเลมีและจากบันทึกต่างๆ พอที่จะทราบว่าในสมัยโบราณแม่น้ำตรังเป็นแม่น้ำกว้างใหญ่ สามารถใช้เป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำไปจนถึงบ้านโคกแซ((ตำบลปากแพรก อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศณีธรรมราชในปัจจุบัน แต่การล่องเรือไปตามแม่น้ำนี้คงเดินทางไม่ได้ตลอดทั้งปี เพราะช่วงหน้าแล้งน้ำน้อยมีบางตอนที่ไม่สามารถล่องเรือไปได้ เช่น บริเวณแก่งหินหน้าวัดหูแกงในปัจจุบัน พ่อค้าผู้เดินทางที่เดินทางเข้ามาทางปากแม่น้ำตรัง จึงต้องหยุดพักการเดินทางเพื่อรอให้ล่องเรือต่อไปได้จึงเกิดชุมชนขึ้น และสร้างวัดเพื่อทำศาสนกิจ ณ บริเวณที่อยู่ใกล้แม่น้ำ เช่น วัดหูแกง(สำหรับประวัติวัดูแกงได้กล่าวถึงไว้แล้วในเรื่องแหล่งเรียนรู้ท้องถิ่น) และวัดย่านเกลื้อน ซึ่งเคยพบหลักฐานที่เป็นใบเสมาโดบราณที่วัดย่านเกลื้อนแห่งนี้ และจากข้อสันนิษฐานของอาจารย์สนิท พลเดฃ จากหนังสือเรื่องริมฝั่งอันดามัน ว่าพุทธบริษัทต้องการที่จะสร้างถาวรวัตถุไว้ที่วัดย่านเกลื้อนนี้ แต่หาที่เหมาะไม่ได้ จึงได้มาสร้างพระพุทธรูไว้ในถ้ำวัดหาน(วัดคีรีวิหาร) แต่ไม่มีพระสงฆ์อาศัยอยู่ เพิ่งมีพระสงฆ์มาอาศัยอยู่ภายหลัง แต่เป็นวัดเล็กๆ ซึ่งเล็กกว่าวัดหูแกงตามบันทึกของ สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในจดหมายเหตุ "หนังสือจดหมายระยะทางไปตรวจราชการ แหลมมลายู ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕)" ซึ่งข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงวัดคีรีวิหารไว้ดังนี้ "....เช้า ๑.๔๕ ออกจากห้วยยอด ไปทางข้างเหนือ ทางเป็นป่าแดง วันนี้เป็นกระบวนช้าง วานนี้เรากับพระยารัษฎาขี่เกี้ยว วานซืนที่เรากับพระยารัษฎาขี่ดอกก๊าดคันเดียวกัน ข้าราชการขี่ม้า ช้างตัวที่ขี่วันนี้ชื่อพังบุญชู เช้า ๒ โมง แยกจากทางนครลงซ้าย เฉียงไปพายัพ ทางที่แยกมานีร้ได้ตัดป่าแดงเป็นช่องกว้าง ๓ วา ไปด้วย ดงทางเดินเก่ายังไม่ได้เฉาะร่องน้ำพูนดินเป็นถนนเช่นทางไปนคร ๒.๒๐ ถึงท้ายเขาขาว ทางโอนตัดลงตวันตก มีนามากแต่ร้าง เดินฝ่าไปในนาร้าง ๕ ม. พ้นนาเปนป่าแดงอีก ไปอีก ๕ ม. มีไร่ล้อมรั้วแถวหนึ่ง ร้างบ้างทำบ้าง ๕ พ้น ทางต้องขึ้นลงควนอยู่แต่ตอนออกมาจากห้วยยอด ต่อมาทางราบ ๒.๕๐ มีนาร้างและไร่กำลังทำ เห็นชาวบ้านมาดูกลุ่มหนึ่ง ๑๐ คน ๓.๐๐ น. ข้ามห้วยกลอย ที่ข้ามมีทำนบปิดน้ำดินล่างไม้บน แบ่งเอาน้ำไปทางฝั่งขวา อยู่ข้างตวันตกไปทำนา แต่ที่เห็นเป็นนาร้างเสียแล้ว นาที่จะทำอยู่ลึกเข้าไปฤาอย่างไรแหละ ๓.๐๘ พบเรือนหลังหนึ่ง ๓.๑๓ มีไร่ที่ฟันใหม่ไร่หนึ่ง ๓.๒๒ พบที่ฟันเป็นไร่แห่งหนึ่ง ไร่ทำแล้วมีในเข้าไป เห็นคนมาดูประมาณ ๒๐ ๓.๔๐ มีไร่ร้างไร่หนึ่ง ๓.๔๕ มีโก่นไร่อีกแห่งหนึ่ง ๓.๕๗ ข้ามห้วยลำยวน น้ำไหลไปใต้ ๔.๑๐ ถึงวัดหาร พระสถลกับหลวงนครไปคอยรับอยู่ มีพระสงฆ์ในวัดมาสวดชยันโตรับ ชาวบ้านหญิงชายมาดูมาก ลงช้างเข้าไปในถ้ำ หน้าถ้ำมีกำแพงกั้น ๒ ศอก มีประตูเล็ก กบเสมอหลังกำแพง เข้าไปในกำแพงข้างพังเพราะไม่ต้องรอด ถึงห้องที่ ๑ มีพระปั้นนั่งเข้าแถว ๕ องค์ใหญ่ เล็ก ๆ ยัดเยียดอยู่หลายองค์ หักบ้าง ดีบ้าง ไม่มีอะไรที่งามควรจำ จะว่าใหม่ก็ไม่ใช่ เก่าดอกแต่ไม่เก่ง แลไม่เข้ารูปแบบที่เห็นตามกระบวนที่ช่าง เนื้อปิดทอง ผ้าทาแดง ทรงจีวรบ้าง ทรงเครื่องบ้าง เข้าไปดูห้องที่ ๒ มีอนุสาวรีย์ ๔ อัน ที่ข้าพเจ้าว่าอนุสาวรีย์นั้น คิดเอาเองว่าเห็นจะเปนที่ฝังกระดูก รูปร่างเข้าทีอยู่อันหนึ่ง ได้เขียนเอามาดู คืออันที่ A ในแผนที่ เข้าไปดูห้องที่ ๓ ที่ปากห้องมีพระเจดีย์เล็กอันหนึ่ง ทรงหม้อเข้าคว่ำรูปไม่งามกับที่ฝังกระดูกถูกขุดแล้วอันหนึ่ง ในขวากทางซ้ายมือ มีพระนอนองค์ใหญ่ มีพระสาวกยืน ๒ องค์ เฉียงมาพระภักดิ์มีหลังคาคร่อม ขวามือมีแท่นยาว ที่เกือบตรงกลางยกสูง มีพระปาลิไลยทรงเครื่องนั่งเปนสูญองค์หนึ่ง แถวขวามีรูปพระเจ้า ๗ องค์ แถวซ้ายมีรูปพระเจ้า ๕ องค์ รูปพระก็พรรณเดียวกันกับห้องที่ ๑ ดูไม่ได้เช่นกัน ห้องที่ ๔ หามีอะไรไม่ ห้องที่ ๕ มีรูปภาพพิมพ์บนดินดิบ วางทับซ้อนไว้กับพื้นมาก ที่เลือกพบมีสามอย่างด้วยกัน เปนรูปลูกไข่อย่างหนึ่งมีรูปพระสี่กรอยู่กลาง มีทวดาล้อม ๘ ตน เปนรูปกลีบบัวอย่างหนึ่ง มีรูปพระสี่กรองค์เดียวกัน รูปแผ่นอิฐอย่างหนึ่ง มีรูปพระสองกรอยู่กลาง(ที่พระพุทธรูป) มีสาวกฤาเทวดาสองข้าง อย่างรูปไข่มีมาก อย่างกลีบบัวมีน้อย อย่างแผ่นอิฐได้อันเดียว มีความเสียใจที่หาดีบริสุทธิ์ยาก ด้วยว่าคนไปกวาดขี้ค้างคาว มันไปขุดคุ้ยขี้ค้างคาวทำพิมพ์พระแลกไปเสียอย่างหนึ่ง ยังพวกหาพระนี้เองคุ้ยไม่เป็นไปคุ้ยหักเสียอย่างหนึ่ง เราจะเอาดีต้องคุ้ยลงไปลึกจึงเห็นของดีอยู่ภายใต้ วางซ้อนๆ กันไว้มากกว่ามาก แต่หยิบเข้ายุ่ยหมด ต้องออกความคิดสุมไฟบนนั้น ให้น้ำแห้งเสียสักหน่อย คิดว่าพรุ่งนี้จะไปขุดซ้ำ รูปพิมพ์นี้เป็นของเก่านาน มีหนังสือสันสกฤต ต้องเป็นพวกแขกพราหมณ์มาทำไว้ ในที่นี้คงมีเมืองเจ้า เคยถือศาสนยาพราหมณ์ จึงได้สร้างเทวรูปมากมายฉนี้ แต่จะสร้างทิ้งไว้ทำไมที่ถ้ำนี้ก็ไม่เข้าใจ ถ้ำก็หาได้มีท่าทางเป็นเทวสถานไม่ ฤาจะทำที่นี่เผาเอาไปไว้ที่ไหนแต่ยังไม่ทันเผาเป็นแต่ตีดินอาไศรยกองไว้ในถ้ำพอกันฝนพลางก็เป็นได้ แล้วมีเหตุอะไรที่ต้องทิ้งค้างเลิกกัน มีเหตุเมืองเสียเป็นต้น คิดว่าทีเหล่านี้คงมีเทืองเก่าอะไรทีเดียวสักแห่งหนึ่งแน่ ในการนี้จะสอบความคิดนี้จะต้องขุดเนื้อดินที่นั้นเทียบกับดินพิมพ์พระว่าจะเหมือนกันฤาไม่พรุ่งนี้จะลอง อนึ่ง ต่อจากห้องที่ ๕ เข้าไปมีอีกช่องหนึ่งเล็กถึงคลาน ยังไม่ได้ตรวจว่าจะมีทางเข้าไปเวิ้งนั้นแล้วจะมีอะไรฤาไม่ฤาตัน พรุ่งนี้จะไปตรวจ ตัววัดไม่มีอะไรมิได้ เปนวัดมาแอเนกส์ เอาถ้ำที่มีพระมาก่อนเป็นวิหาร แล้วทำกุฏีที่อยู่ฝาขัดแตะมุงจากขึ้น มีพระสามองค์ กับทำศาลาการเปรียญจากไว้รับสัปปุรุสหลังหนึ่กับมีพระเจดีย์เเล็ก มีโรงจากครอบอีกหลังหนึ่ง แต่ถึงดังนั้นก็คงตั้งแอเนกส์มานานแล้ว ท่านสมภารอายุ ๘๐ ว่าอยู่มากับท่านอาจารย์ที่นี่แต่เล็ก ๆ เพราะดังนั้นที่นี่คงเป็นแอเนกส์แล้วไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ปี.......ย้อนไปทางวัดหารดูผลที่สุมไฟวานนี้ ทำให้แห้งนิดหน่อย ไม่สู้เป็นผลมาก ทำให้พ้นยุ่ยได้แข็งขึ้นนิดเดียว ได้เก็บมาด้วยอีก ๗ ฤา ๘ องค์ ไม่มีแปลกอีก หลุมที่ขุดให้ปิดไว้ด้วยไม้ แล้วกลับออกจากถ้ำ ไปตามพระยารัษฎา ซึ่งไปนั่งคุยอยู่กับพระบนกุฏี เลยคุยกัยกับสมภาร ถามถึงว่าวัดสร้างเมื่อไรเผื่อแกรู้บ้าง แกว่านานมาแล้วเขาว่าพร้อมกับพระธาตุนคร พูดกับพระครูหนึ่งมิสเตอร์เบิดตามขึ้นไปด้วย พอลาพระกลับ ๓ คน ขึ้นยืนบนนอกชานกุฏินอกชานทนไม่ไหวพัง รอดตัวที่เป็นชานแคบ ต่างเกาะพรึงกุฏิไว้ได้ จึงลงไปยืนอยู่ดัวยกันไม่ล้มลุกเจ็บป่วย ต้องขอให้พระยารัษฎาสั่งคนไปทำใช้........เวลา ๒.๔๐ เดินออกจากที่พักตามสพานข้ามแม่น้ำไปขึ้นวัดหูแกง เป็นวัดเก่าแต่ไม่เป็นสาระอะไร เว้นแต่กว่าวัดหารหน่อยที่โบสถ์ฤาวิหารเป็นไม้จริงมุงกระเบื้อง........" จากบันทึกและหลักฐานต่าง ๆ ที่กล่าวมาพออนุมานได้ว่าวัดคีรีวิหารเป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างมานานหลายร้อยปีแล้ว และสอดคล้องกับการบอกเล่าต่อกันมาว่าเป็นวัดที่พวกพ่อค้าเดินทางผ่านทางแม่น้ำตรัง และพักเรือรอให้เรือแล่นต่อไปได้จึงเกิดชุมชนและได้สร้างวัดไว้ทำศาสนกิจ วัดจึงไม่ได้ใหญ่โตและเจริญมากนัก และเป็นวัดมาก่อนที่จะขึ้นทะเบียนไว้ในทำเนียบวัดทั่งราชอาณาจักร
หมายเหตุ เดิมชื่อว่าวัดหาร ตั้งอยู่ที่วัดคีรีวิหาร หมู่ที่ 7 ตำบลเขากอบ อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ภายในวัดถ้ำคีรีวิหารเป็นสถานที่เก็บพระพิมพ์ดินดิบ ภายในถ้ำห้องที่ 5 มีพระพิมพ์ดินดิบวางซ้อนทับไว้บนพื้นจำนวนมาก มีอยู่ 3 ชนิด คือ 1. พระพิมพ์ดินดิบรูปวงรีคล้ายลูกไข่พระพิมพ์ดินดิบมีรูปพระนารายณ์สี่กรอยู่กลางมีเทวดาล้อมแปดองค์ 2. พระพิมพ์ดินดิบรูปกลีบบัวมีรูปพระนารายณ์สี่กรองค์เดียวใหญ่ 3. พระพิมพ์ดินดิบรูปแผ่นอิฐมีรูปพระนารายณ์สองกรอยู่กลาง มีสาวกหรือเทวดาสองข้าง พระพิมพ์ดินดิบมีอยู่สองข้าง คือ พระพุทธรูปปางเทศนา ประทับนั่งตรงกลางล้อมรอบด้วยพระพุทธรูปปางต่าง ๆ และรูปพระโพธิสัตว์นั่ง (เป็นพระพุทธรูปฝีมือช่างพื้นเมือง คือ พระนอนยาว 9.50 เมตร ประดิษฐานอยู่ตรงปากถ้ำในเพิงผาและพระบริวารของเก่า 7 องค์ สร้างขึ้นใหม่ 3 องค์)
แหล่งข้อมูลและอ้างอิง จดหมายเหคุ "หนังสือจดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมลายู ร.ษ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕) ของสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ : หนังสือทำเนียบห้วยยอด และหนังสือ ริมฝั่งอันดามัน ซึ่งเขียนโดย อาจารย์สนิท พลเดช : จุลสาร เรื่อง โบราณสถานภูเขาสาย ซึ่งจัดทำโดย สภาวัฒนธรรมอำเภอห้วยยอด พ.ศ. ๒๕๔๘ : ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๓ จัดทำโดยพุทธศาสนสถาน กองพุทธศาสนาสถาน กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๒๗
|